ม.ราชภัฏยะลา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

27 เมษายน 2561 (ผู้ดูแลระบบ) ข่าวกิจกรรม

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561  ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์ทางภาษา วัฒนธรรม และวิชาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา ชมรมคนไทยเชื้อสายจีนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กับ YUNNAN SONGLAND CULTURAL DEVELOPMENT CO.,LTD. โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกรมแพทย์แผนโบราณจีนมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นหน่วยงานหลักเพื่ออำนวยการบริหารจัดการและบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในทุกลักษณะทั้งทวิภาคี และพหุภาคีให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์ทางภาษา วัฒนธรรม และวิชาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา ชมรมคนไทยเชื้อสายจีนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย กับ YUNNAN SONGLAND CULTURAL DEVELOPMENT CO.,LTD. มีผู้ลงนาม ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายซอและห์ ตาเละ รองอธิบดีฝ่ายกิจการพิเศษและการลงทุน มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ตัวแทนมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ นายฟุ้ง สุขเสรีทรัพย์ ประธานชมรมชาวไทยเชื้อสายจีนจังหวัดยะลา และ Chairman Celine WOng (PH.D) จาก Songland Culture Communication Co.,lyd. และ Zheng Jin จาก Deputy Director-General Lirector Professor Supervisor of Doctor

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาความสัมพันธ์ทางภาษา วัฒนธรรม และวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ ในทุกมิติ โดยผ่านการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบะสังคมไทย - จีน หรือที่เรียกว่า สถาบันเจิ้งเหอนานาชาติ อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมที่ดีงามของสาธารณรัฐประชาชนชาวจีน ผ่านการพัฒนาด้านภาษาจีน รวมทั้งเพื่อการเข้าถึงและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการที่นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นทางการค้า การลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือที่จะผลักดันให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญในการเชื่อมโยงการพัฒนาทั้งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และภูมิภาคอื่นๆ ของอาเซียน